จุดยืนแบงก์ชาติกับ นวัตกรรม DeFi และ Crypto

เริ่มโดย support-1, กุมภาพันธ์ 23, 2022, 03:14:28 หลังเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

support-1

ปีใหม่นี้เราจะเห็นความคึกคักของ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ในรูปแบบต่างๆ ที่สังคมไทยจะประสบพบเห็นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นตามลำดับ

ไม่ว่า "ผู้กำกับกฎเกณฑ์" หรือ regulators เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. จะมีแนวทางหรือจุดยืนต่อวิวัฒนาการเรื่อง cryptocurrencies ในรูปแบบต่างๆ

ก่อนสิ้นปีสังเกตเห็นแบงก์ชาติได้พยายามออกมาทำความเข้าใจกับคนไทยทั่วไปถึงเรื่องต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมด้าน FinTech เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

เป็นที่เข้าใจว่ากลไกของรัฐในกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องให้ความรู้และข้อมูลต่อสาธารณชนในประเด็นต่างๆ เหล่านี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ชอบมาพากลในระบบแต่ก็เป็นที่รับรู้ว่ากระแสเช่นนี้มิอาจจะต้านได้หากมันตอบโจทย์ของสังคมได้ในระดับหนึ่ง

จึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเองมีหน้าที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของโลกในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มิอาจสกัดหรือยับยั้งทั้งหมดได้

ไม่ว่าจะมี "มุมมืด" ของปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไร ก็ยังมี "มุมสว่าง" ที่ทุกรัฐบาลทั่วโลกจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อปรับตัวและกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่

เอกสารทางการของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดที่ผมได้รับอธิบายเรื่องเหล่านี้ว่าอย่างนี้ มุมมองของ ธปท.ต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเงินสกุลดิจิทัล (CBDC) หรือ Central Bank Digital Currency

1.มุมมองของ ธปท.ต่อเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เปรียบเทียบกับ Digital Asset

- เทคโนโลยี Blockchain ได้นำหลักของการกระจายศูนย์แบบไม่มีตัวกลางมาใช้
โดยในการทำงานจะมีกลไกการตรวจสอบความถูกต้องจากคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในกลุ่ม ทำให้แก้ไขและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่บน Blockchain ได้ยาก

จึงทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain มีความน่าเชื่อถือ และส่งผลให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการเงินที่ต่อยอดบน Blockchain ที่หลากหลาย

- ธปท.เห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจการเงิน
ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้พัฒนากิจกรรมหรือบริการทางการเงินต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจ เช่น โครงการ National Digital Identity (NDID) โครงการ electronic letter of guarantee (e-LG) ของภาคธนาคาร หรือการใช้พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น

- อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment : MOP)
เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชน

เช่น ความผันผวนด้านราคา ความปลอดภัยของระบบ และอาจถูกเป็นช่องทางของการฟอกเงิน

นอกจากนี้ หากมีการใช้อย่างแพร่หลายในกิจกรรมการชำระเงินต่างๆ จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความสามารถในการดูแลภาวะการเงินในประเทศ

2.Central Bank Digital Currency (CBDC) คืออะไร?

และแผนของ ธปท.ไปในทิศทางไหน?

- CBDC คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนเงินบาทหรือธนบัตร
เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และสามารถรักษามูลค่าให้ไม่ผันผวน

ซึ่งต่างจาก cryptocurrency ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักมีมูลค่าที่ผันผวน และความเสี่ยงจะขึ้นกับผู้ออกเหรียญ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

ขณะที่ stablecoin แม้ว่าจะมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่าไม่ผันผวนมากนัก แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ออกอยู่เช่นกัน

- ระบบการชำระเงินที่ให้บริการประชาชนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว สะท้อนจากยอดผู้ใช้งานและจำนวนบัญชีพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันพร้อมเพย์มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้ว 67.5 ล้านหมายเลข (ID) มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 34.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 9.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน

ดังนั้น การพัฒนา Retail CBDC ในกรณีของไทย จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาทดแทนการบริการชำระเงินที่มีอยู่เดิมหรือการให้บริการของภาคเอกชน

แต่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการต่อยอดนวัตกรรมการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคต

ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในเรื่องนี้ของธนาคารกลางอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น Public Bank of China (PBoC), Swedish Central Bank, Bank of England

หรือแม้กระทั่ง Fed ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา CBDC ร่วมกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นต้น

ทั้งนี้ ธปท.จะเริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC กับภาคประชาชนในวงจำกัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพื่อประเมินแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป

คำอธิบายของแบงก์ชาติทำให้เห็นถึงจุดยืนที่ระมัดระวังในการมองการใช้ digital assets ในหลายๆ วงการ

ยิ่งเมื่อมีนวัตกรรมด้าน Metaverse และ Decentralized Finance (De-Fi) ที่กำลังแตกลูกหลานออกมาในรูปแบบต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ต้องมีการปรับตัวของทุกฝ่ายอย่างปฏิเสธไม่ได้

ต้องถือว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง

เป็นจังหวะที่ฝ่ายผู้กำกับดูแลกับฝ่ายเอกชนในยุค digital disruption ต้องมีการแลกเปลี่ยนปรึกษาหารือและถกแถลงเพื่อหาสูตรและก้าวย่างที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุด